“อาคม” ชูจุดยืนประเทศ สินทรัพย์ดิจิทัล เคลื่อนเศรษฐกิจไทย
Read Time:4 Minute, 55 Second

“อาคม” ชูจุดยืนประเทศ สินทรัพย์ดิจิทัล เคลื่อนเศรษฐกิจไทย

0 0

หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้อง “ปรับโครงสร้าง” เพื่อสร้างเครื่องยนต์หรือกลไกในการขับเคลื่อน (growth engine) ตัวใหม่ ประกอบกับการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐต้องเร่งปรับตัวเพื่อตามให้ทัน โดยเฉพาะเรื่องที่ใหม่มาก ๆ และกำลังเป็นโจทย์ท้าทายการกำกับดูแลก็คือ การเข้ามาของสินทรัพย์ดิจิทัล

ซึ่งหลายคนมีคำถามว่า ประเทศไทยจะวาง positioning ในเรื่องนี้อย่างไร คำตอบจะเป็นแบบไหน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ “อนาคตประเทศไทยกับสินทรัพย์ดิจิทัล” ไว้ในงานสัมมนาสินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา

ภาครัฐไม่ปฏิเสธสินทรัพย์ดิจิทัล
โดย “อาคม” กล่าวว่า ปัจจุบันเทรนด์ที่จะเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัล โดยต่อไปนี้จะเห็นทุกอย่างเป็นดิจิทัลไปหมด เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นก็ย่อมได้ เพราะว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพัฒนาการทางเทคโนโลยีดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงให้เกิดสินทรัพย์ใหม่ประเภทหนึ่งขึ้นก็คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการกระจายอย่างรวดเร็วและเกิดขึ้นกับทั่วโลก

ซึ่งสิ่งที่เห็นในประเทศไทยปี 2563-2564 ก็คือ ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นจาก 9 ราย เป็น 14 ราย มูลค่าการซื้อขายของคริปโตเคอร์เรนซีต่อวันเพิ่มจาก 240 ล้านบาท เป็น 4,839 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจาก 9,600 ล้านบาท เป็น 114,000 ล้านบาท

“จะเห็นได้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็ว และที่สำคัญคือจำนวนบัญชีผู้ใช้บริการในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มจาก 170,000 ราย เป็น 2 ล้านราย ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่วนในแง่ผู้เล่นรายใหม่ นอกจากตลาดหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ไทยแล้ว ก็มีตลาดคริปโตเคอร์เรนซีเพิ่มขึ้นมา ซึ่งก็มีภาคธุรกิจหลายรายเริ่มใช้โทเค็นดิจิทัลเป็นทางเลือกในการระดมทุน แต่การพัฒนาที่สำคัญส่วนนี้คือเรื่องบล็อกเชนเทคโนโลยีซึ่งจะไม่ผ่านศูนย์กลาง สามารถระดมทุนโดยตรงไปที่ประชาชนได้ทันที”

“ส่วนโทเค็นพร้อมใช้ (utility token) ในแง่การกำกับของภาครัฐคงต้องใช้เวลา แต่ทั้ง 2 เรื่องก็เป็นเรื่องที่เราไม่ปฏิเสธ เพราะภาครัฐก็ให้ความสำคัญต่อการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล”

หนุนการเป็นแหล่งทุนสตาร์ตอัพ
“อาคม” กล่าวว่า หากถามว่าโอกาสหรือประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัลมีอะไรบ้างนั้น แน่นอนว่าโอกาสจากทางเลือกของการลงทุนมีแน่นอน และยังมีเรื่องของการสนับสนุนสตาร์ตอัพกลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้มีการยกเว้นภาษีให้แก่ venture capital ที่เข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพ ช่วยให้สตาร์ตอัพมีแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และแน่นอนว่าอนาคตสินทรัพย์ดิจิทัลก็จะเข้ามามีบทบาทเป็นแหล่งทุนเพิ่มเติมอีก

คุ้มครองผู้ลงทุน-ป้องกันเสียหาย
การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น “อาคม” บอกว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใช้แนวทางการกำกับดูแลตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็กำกับดูแลในด้านภาคการเงิน

โดยทั้ง 2 หน่วยงานมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งสำหรับเรื่องการชำระเงินด้วยรูปแบบสกุลเงินดิจิทัลนั้นปัจจุบันทั่วโลกยังไม่ยอมรับ อย่างไรก็ดี ทาง ธปท.ก็ได้มีการพัฒนา Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางขึ้นมา เช่นเดียวกับทั่วโลกที่กำลังทำในเรื่องดังกล่าวอยู่เช่นกัน

“การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล กระทรวงการคลังมีนโยบายต้องยึดประโยชน์ผู้ลงทุน ต้องคุ้มครองไม่ให้เกิดความเสียหาย โดย ธปท.ก็ดูแลร่วมกัน และ ก.ล.ต.ก็อยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อให้กำกับดูแลครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการดูแลระบบเศรษฐกิจ คุ้มครองผู้ลงทุน ขณะเดียวกัน ก็ฝากถึงผู้ประกอบการคริปโตเคอร์เรนซีและโทเค็นดิจิทัลว่าการให้ข้อมูลลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงความเสถียรของระบบที่จะรองรับการซื้อขาย”

เปิดรับมุมมองใหม่เพื่อพัฒนา
ส่วนสิ่งที่ยังมองไม่เห็นขณะนี้ก็คือ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสินทรัพย์ดิจิทัล โดยหลายประเทศให้งบประมาณในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี แต่ประเทศไทยยังมีการลงทุนในด้านนี้น้อย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องบุคลากรที่ต้องเร่งพัฒนา โดยเฉพาะบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งต้องมีความรู้รองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจำเป็นจะต้องมีการพัฒนากำลังแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคสถาบันการศึกษาจะต้องตระหนักในเรื่องนี้

นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลควรต้องเปลี่ยนจากการรวมศูนย์ไปเป็นระบบกระจายศูนย์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องระวังโดยเฉพาะระบบคอมพิวเตอร์ ระบบไฟฟ้า และระบบหลังบ้าน ที่ต้องมีการกระจายความเสี่ยงเพราะเป็นเรื่องความมั่นคงและปลอดภัยของระบบ

“เรื่องสำคัญที่จะมองอนาคตสินทรัพย์ดิจิทัลไปข้างหน้านั้น เป็นเรื่องการเปิดมุมมองใหม่ สิ่งที่จะเห็นคือบทบาทสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีมากขึ้นในการระดมทุนในระบบเศรษฐกิจและการบริการโดยการใช้เทคโนโลยี ซึ่งในภาครัฐก็จะมีมากขึ้น ทั้งนี้ ก็อยากฝากไว้ว่าเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลคริปโตเคอร์เรนซี และแม้กระทั่งระบบการชำระเงินต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ต้องก้าวไปด้วยกัน ถ้าคิดว่ามีอะไรที่ติดขัดก็สามารถมาหารือกันได้ กระทรวงการคลังพร้อมที่จะหารือและหาทางแก้ปัญหาให้ทั้งหมด” รมว.คลังกล่าว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %
Previous post “กองสลาก” เข้มจัดระเบียบตัวแทนขายหวย “มูลนิธิ-องค์กรการกุศล” ต้องคัดกรอง
Next post ตลท.คาดเปิดเทรด Thai Digital Assets Exchange ใน Q3/65 พร้อมดัน Settrade Streaming ขึ้นแท่น “SuperApp” รับการลงทุนไทยในทุกแพลตฟอร์ม